วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

บันทึกความทรงจำ (พิพัฒน์ ทองปินตา เรียบเรียง)

สวัสดีครับ ผมนายพิพัฒน์ ทองปินตา ชื่อเล่นแบงค์ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย รหัสนักศึกษา511166042 วิชาเอกภาษาไทย คณะครุศาสตร์ครับ เป็นคนอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดินแดนที่เรียกได้ว่าเป็นเมืองแห่งขุนเขาลำเนาไพร ที่แฝงไว้ด้วยเสน่ห์แห่งธรรมชาติ สายธาร ต้นน้ำผืนป่าที่กว้างใหญ่ อากาศที่ใสบริสุทธิ์ ในบรรยากาศของหมอกสามฤดู ซึ่งถูกแต่งแต้มด้วยความเรียบง่ายของผู้คนหลากหลายชนเผ่า ทั้งหมดทั้งมวลผสานกันก่อให้เกิดศิลปะ วัฒนธรรม และในวันนี้ผมอยากจะแนะนำให้รู้จักประเพณีหนึ่งที่สะท้อนความเป็นอำเภอแม่สะเรียงอย่างแท้จริง ประเพณีนี้เรียกว่า ประเพณีออกหว่า
โดยประเพณีออกหว่าหรือประเพณีออกพรรษาเป็นความเชื่อของชาวไทยใหญ่ ที่ว่าในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาอยู่บนสรวงสวรรค์ และทรงเสด็จลงโปรดสัตว์ให้สรรพสิ่งในโลกมนุษย์รวมไปถึงสัตว์ในโบราณคดี เช่น นกและสิงโต รวมไปถึงสัตว์อื่นๆอีกมากมาย และในคืนแรม 1 ค่ำสัตว์เหล่านี้จะพากันออกมาฟ้อนรำ เปรียบเสมือนเป็นการแสดงความยินดีที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ลงมาเทศนาเพื่อโปรดสัตว์ในโลกมนุษย์ จากอดีตจนถึงปัจจุบันชาวไทยใหญ่ยังคงมีความเชื่อในตำนานนี้ และได้สมมุติให้มีการแสดงเลียนแบบสัตว์ต่างๆในวรรณคดี เช่น การเต้นโต ฟ้อนกิ่งกะหล่า ซึ่งเป็นการแสดงเลียนแบบนกยูง น่าบ้านเรือนก็จะประดับด้วยซุ้ม ประทีปโคมไฟ เป็นความเชื่ออีกหนึ่งความเชื่อที่ว่าเป็นการรับเสด็จพระพุทธเจ้าจากสรวงสวรรค์
ประเพณีออกหว่าหรือประเพณีออกพรรษานี้ เป็นประเพณีที่มีคุณค่าและหาชมได้เพียงแต่อำเภอแม่สะเรียงเท่านั้น นับได้ว่ามีความสำคัญต่อชาวอำเภอแม่สะเรียงเป็นอย่างมาก โดยสะท้อนถึงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่เรามิอาจทราบได้นะครับว่ากระแสวัฒนธรรมต่างชาติ ที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างต่อเนื่องจะทำให้ความมีคุณค่าของประเพณีดังกล่าวนั้น ลดลงและเลือนหายไปจากสังคมของชาวอำเภอแม่สะเรียงหรือไม่คงต้องฝากความหวังไว้กับอารยชนรุ่นหลัง ที่จะร่วมกับสืบสานประเพณีอันดีงามของถิ่น ให้สมกับที่บรรพบุรุษได้ร่วมกันอนุรักษ์มาถึงจนปัจจุบันและให้จารึกไว้คู่คำขวัญของอำเภอแม่สะเรียงที่ว่า “เทียนเหงพร่างตา ผ้าทอกระเหรี่ยง เสนาะเสียงสาละวิน
งานถิ่นธรรมชาติ พระธาตุสี่จอง กล้วยไม้หอมเอื้องแซะ ” ตลอดไป…

1 ความคิดเห็น: